มช. ผนึกกำลังท้องถิ่น พัฒนาทักษะผู้นำชุมชน สร้างสุขภาวะผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 14 ตำบลต้นแบบ พัฒนาผู้สูงวัย

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 16.00 น. วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ADVOCATE 2025”  ขึ้น ณ ลานประตูท่าแพ โดยได้รับเกียรติจากหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกู้เกียรติ นิ่มเนียม เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 14 ตำบลต้นแบบ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และคุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จการดำเนินงาน 

กิจกรรม “ADVOCATE 2025”  มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการการยกระดับศักยภาพผู้นำชุมชนต้นแบบ ADVOCATE และนวัตกรรมการเรียนรู้มีดี เพื่อสร้างกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่งในภาคเหนือตอนบน สู่การพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่อง พร้อมฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการทำงานและบริหารโครงการของบุคลากรผู้เข้าร่วมโครงการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงวัยในชุมชน และระบบหนุนเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดของสินค้าชุมชน

โดยนายกู้เกียรติ นิ่มเนียม  หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมระดับฐานราก โดยบุคลากรท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักร่วมกับภาคีเครือข่าย ความสำเร็จของโครงการจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นไทย พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกวัย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในยุคใหม่ ต่อสู้กับความยากจน และขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นผลักดันวิสัยทัศน์การเป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม" โดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตเป็นหน่วยงานสำคัญในการริเริ่มและเปิดโอกาสทางการศึกษา "โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เน้นการส่งมอบองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่คนทุกช่วงวัย ผ่านความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม" 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ ทางวิทยาลัยจึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรและผู้นำชุมชนของ อปท. จำนวน 140 คน ใน 14 พื้นที่นำร่อง จาก 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ด้วยกระบวนการฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการทำงาน และการบริหารโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยในชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

การทำงานร่วมกันนี้ ก่อให้เกิดการหนุนเสริมกันและกันระหว่างบุคลากร อปท. กับผู้สูงวัยในการทำกิจกรรมร่วมกันผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน  อาทิ ในจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าป้องพัฒนาข้าวแต๋นและข้าวเกรียบ เทศบาลตำบลเชิงดอยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรชาสามสหาย ขิงผง และหัวปลีผง ส่วนเทศบาลตำบลท่าวังตาลเน้นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบและโคมล้านนา

ในจังหวัดเชียงราย เทศบาลตำบลแม่คำพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งถุงหอม ลูกประคบ และยาดมสมุนไพร เทศบาลตำบลโยนกพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม และเทศบาลตำบลเวียงเน้นการพัฒนากระเป๋าและผลิตภัณฑ์จากผ้าที่หลากหลาย จังหวัดลำพูนโดดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมดินจากเทศบาลตำบลป่าไผ่ และผลิตภัณฑ์ถ่านรักษ์โลกจากเทศบาลตำบลวังดิน เทศบาลตำบลวังผางพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งถุงหอม ลูกประคบ และยาดมสมุนไพร 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ ผ้าปักลายอัตลักษณ์จากเทศบาลนครลำปาง ผลิตภัณฑ์จักสานและน้ำพริกจากเทศบาลตำบลป่าแมต จังหวัดแพร่ ผลิตภัณฑ์จากทางมะพร้าวจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จังหวัดพะเยา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลตำบลแม่ลาน้อยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้กวาดและกุ๊บไต ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว จังหวัดน่าน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายสีธรรมชาติสู่ของฝากอัตลักษณ์ท้องถิ่น 

ผลจากการร่วมโครงการนี้ มีผู้สูงอายุเข้าร่วมมากกว่าสองพันคน พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรวม 69 ชิ้น สามารถสร้างรายได้รวมให้กับชุมชนทั้งหมดมากกว่า 2 ล้านบาท 

การจัดกิจกรรมยังมี “ตลาดนัดสินค้าผู้สูงวัย” หรือ “MEDEE MARKET” ที่บริเวณลานประตูท่าแพ ภายในงานมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้สูงวัยจำนวนมากกว่า 60 รายการจากพื้นที่ที่เข้าร่วมและหน่วยงานความร่วมมือของโครงการฯ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (WORKSHOP) ระบายสีพวงกุญแจกุ๊บไตจากแม่ลาน้อย การสานดอกไม้จากไผ่ตอกบ้านป่าบง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และกิจกรรมแต่งหน้าข้าวแต๋น จาก ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกิจกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมชมการแสดงร่วมสมัยจากศิลปินค่ายคนเมืองเรคคอร์ด และการแข่งขันประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่งพร้อมหางเครื่องจากนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ 

นอกจากนี้ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน ณ โรงแรมอโมรา ท่าแพ จ.เชียงใหม่ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้จัดเวทีแบ่งปันประสบการณ์และผลการนำความรู้ไปใช้ในพื้นที่ของผู้นำ ADVOCATE ทั้ง 140 คนจาก 14 ตำบล ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมนำเสนอโครงการเพื่อเสริมสร้างทักษะและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้สูงวัยในชุมชน และมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านหลักสูตรนี้ 

ปัจจุบัน “โครงการการยกระดับศักยภาพผู้นำชุมชนต้นแบบ ADVOCATE และนวัตกรรมการเรียนรู้มีดี เพื่อสร้างกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม” ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาทักษะแก่บุคลากร เพื่อการพัฒนากิจกรรมพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างรายได้หรือเกิดการสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) และผู้สูงอายุ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Advocate CMU (www.facebook.com/AdvocateCMU) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมโครงการฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต โทรศัพท์ 053943695-6 เว็บไซต์ www.lifelong.cmu.ac.th/medee และ Line OA : @medeecmu

https://www.lifelong.cmu.ac.th/medee/assets/images/content/IP102426.jpg

https://www.lifelong.cmu.ac.th/medee/assets/images/content/IP102390_0.jpg