เมื่อคิดถึงชีวิตในวันที่ต้องเกษียณจากงานประจำ หลายคนคงมีสิ่งที่ตั้งใจจะทำเพื่อเป็นความสุขในแต่ละวันเมื่อไปถึงวันนั้น แต่หากจะให้มองหางานใหม่อย่างที่เคยทำมา อาจเป็นสิ่งยากสำหรับใครหลาย ๆ คน กระนั้น ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘งานอดิเรก’ ที่หลาย ๆ คนทำควบคู่มากับงานประจำ (หรือเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็กแล้ว) ซึ่งอาจเอามาต่อยอด พลิกแพลงจนกลายเป็นงานใหม่ในวัยเกษียณได้
ย้อนกลับไปเมื่อยังประกอบอาชีพข้าราชการครู คุณลุงสมบูรณ์ และคุณป้าสุภา ยาวิเลิศ ได้รู้จักกับเพื่อนบ้านชาวไต้หวันที่เพาะเลี้ยงผึ้งในสวนหลังบ้าน เมื่อได้พูดคุยกันมากขึ้น ก็ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้การเลี้ยงผึ้งให้ จนกลายเป็นงานอดิเรกยามว่างที่ช่วยสร้างความสุขของทั้งสองท่าน เมื่อเวลาผ่านไป ผลิตผลจากผึ้งเริ่มสร้างรายได้ ความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนให้สิ่งนี้กลายมาเป็นอาชีพก็ดูเป็นหนทางใหม่ที่น่าลอง ครูสมบูรณ์กับครูสุภาจึงจับมือกันเกษียณก่อนอายุราชการ และหันมามุ่งมั่นกับงานฟาร์มเพาะเลี้ยงผึ้งอย่างเต็มที่
อดีตคุณครูต้องกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้งเมื่อเข้าสู่สนามของการทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงผึ้ง ทั้งต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องของผึ้ง ลองผิดลองถูกกับการทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองและทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก แม้ในช่วงเริ่มต้นของงานอดิเรกที่เปลี่ยนมาเป็นงานหลักอะไรก็ดูเป็นไปได้ยาก แต่ทั้งสองไม่เคยย่อท้อ ไม่หยุดแสวงหาความรู้ ระดมกำลังคนในชุมชนที่สนใจงานนี้ให้มาเป็น ‘กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งอำเภอแม่ริม’ เพื่อทำงานร่วมกัน พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเติมเต็มสิ่งที่พวกเขารักให้มีมูลค่า สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนจากงานอดิเรกเพาะพันธุ์ผึ้งเพียงไม่กี่ 10 รังให้กลายมาเป็น ‘สุภาฟาร์มผึ้ง’ ในที่สุด
หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ของสุภาฟาร์มผึ้งและตัวฟาร์มเป็นที่รู้จักของผู้คนอย่างแพร่หลาย มีมาตรฐานรับรองที่ลูกค้าเชื่อถือได้ และสร้างความมั่นคงในชีวิตวัยเกษียณแล้ว ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูของคุณลุงสมบูรณ์และคุณป้าสุภา กอปรกับมักมีคนรอบตัวมาปรึกษาปัญหาด้านอาชีพการงานกับทั้งสองท่านบ่อยครั้ง พวกท่านจึงตัดสินใจให้ฟาร์มแห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของคนที่สนใจในงานเพาะผึ้ง ส่งต่อประสบการณ์ สร้างอาชีพ และช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของใครอีกหลายคน
“ถ้าเราขายไว้คนเดียว เก็บความรู้ไว้คนเดียวมันก็จะอยู่แค่ตรงนี้ มันไม่สามารถที่จะขยายไปหาคนอื่น เพื่อที่จะทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้เหมือนกัน ถ้าเราขยายความรู้ไปให้คนอื่น ผึ้งมันก็จะแพร่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ประโยชน์มันก็จะเพิ่มไปหาคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เรา”
คุณณัฐรดา ปริตรวิมุต เจ้าหน้าที่สุภาฟาร์มผึ้งบอกเล่าถึงแนวคิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของฟาร์มผึ้งของสองผู้ก่อตั้ง
ถึงแม้ฟาร์มแห่งนี้จะขยายกิจการจนเติบโตและแข็งแรง มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นมาแต่ดั้งเดิม แต่ผึ้งที่ชื่อ "สุภาฟาร์มผึ้ง" ไม่ได้อยู่หยุดแค่กลุ่มลูกค้าและวิธีการขายแบบเดิม ๆ เท่านั้น แต่ผึ้งตัวนี้ยังคอยขยับปีกบินไปหาแหล่งน้ำหวานใหม่ ๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่าตลาดออนไลน์ ที่เป็นเหมือนดินแดนแห่งโอกาสอันไม่รู้จบ และเป็นโลกใหม่ที่ผึ้งตัวนี้ต้องเข้าไปเรียนรู้เพื่อจะสามารถอยู่ได้ในวิถีของโลกที่เปลี่ยนไป
“ตลาดออนไลน์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใคร ๆ ก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ ขอแค่เรามีความต้องการที่จะมีรายได้ และมีไอเดียที่พร้อมจะใส่ลงไป เทคโนโลยีและสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันพร้อมที่จะสนับสนุนเรามากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งทางด้านเทคโนโลยีมาทำ แค่เรามีสมาร์ตโฟน เราก็ทำได้” คุณณัฐรดา กล่าวเสริม
เรื่องราวของคุณลุงสมบูรณ์และคุณป้าสุภาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า งานอดิเรกในวัยเกษียณสามารถเปลี่ยนมาเป็นอาชีพที่สร้างคุณค่าและสร้างรายได้ให้กับตัวเรา เพียงแค่เริ่มต้นด้วยความสนใจ ความตั้งใจ พร้อมต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่กลัวที่จะกลับมาเป็นนักเรียนในวัยเก๋า เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเรียนรู้
_____________________________________________________
เรื่อง: สุพรรณนิการ์ เกิดโมฬี
_____________________________________________________
สามารถเรียนรู้เรื่องราวของสุภาฟาร์มผึ้ง ผู้เริ่มต้นเลี้ยงผึ้งยามว่างสู่ความสำเร็จทางธุรกิจที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ได้ใน MEDEE 13 งานยุคใหม่ของผู้สูงวัย และแรงบันดาลใจธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้า
#Medee #มีดี #เกษียณมีดี#พลังเกษียณสร้างชาติ#CMUlifelong#SDGs#SDG4#CMUSDG4#CMUSDGs